เมื่อวันที่ 15 มี.ค.66 เวลา 08.00-15.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดงาน THAILAND WORLD DELIRIUM AWARENESS DAY 2023 ภายใต้แนวคิด “ศิริราชห่วงใย สูงวัยไทย ห่างไกล DELIRIUM” เนื่องในวันรณรงค์การตระหนักถึงภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นความสำคัญของการเกิดภาวะดังกล่าวในผู้สูงอายุ เข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วย อีกทั้งรู้หลักการป้องกันโรค โดยมี ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานเปิดงาน ณ ศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี รพ.ศิริราช
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จำนวนผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี หนึ่งในความเสี่ยงของผู้ป่วยสูงอายุที่สำคัญ คือ ภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน โดยสมองทำงานบกพร่องกะทันหัน เกิดภาวะสับสน กระวนกระวาย ส่งผลต่อกระบวนการคิด ไม่มีสมาธิและสูญเสียความทรงจำ ส่วนใหญ่พบได้ในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ดังนั้น การจัดการกับภาวะดังกล่าวถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน นำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงญาติ ผู้ใกล้ชิดและผู้ดูแลอีกด้วย
กิจกรรมภาคเช้าได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช บรรยายถึง “ทิศทางและการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุไทย” พร้อมแนะนำศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จ.สมุทรสาคร (SiACG) จากนั้นพบกับการเสวนาเรื่อง “NURSES’ ROLE IN IMPROVING MULTIDISCIPLINARY DELIRIUM CARE IN PATIENT SETTING : STEPS FOR ACTION” ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ มุมมองผู้นำในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายในการดูแลผู้ป่วย จาก พว.ชไมพร เจริญไกรกมล หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช การพัฒนาบทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยและการป้องกัน จาก พันเอกหญิงรัชนีกร บุณยโชติมา ผู้อำนวยการกองการพยาบาล รพ.พระมงกุฏเกล้า การขับเคลื่อนนโยบายการดูแลผู้ป่วยและบทบาทของกองพยาบาล จาก พว.อัสราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข
จากนั้น ผศ. พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ พว.สุวรรณา สมัครธรรม ฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช พร้อมด้วย ครูแอน นันทนา บุญ-หลง บรรยายในหัวข้อ “รู้ได้อย่างไรว่าผู้สูงวัยใกล้ตัว กำลังเกิดภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน” เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของโอกาสเกิดภาวะซึมสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 12-56 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงระยะเวลาในการรักษาตัวและอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น
ภาคบ่ายพบกับ ผศ. นพ.ปเนต ผู้กฤตยาคามี อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ พว.แสงระวี มณีวรรณ ฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช พร้อมด้วย คุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ทำอย่างไรเพื่อผู้สูงอายุไทย ห่างไกลภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน” บอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงวัย พร้อมเผยแนวทางการป้องกันจากโรคดังกล่าว ปิดท้ายด้วยการเสวนาเรื่อง “การจัดแต่งบ้านและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ” โดย รศ. พญ.ปิยะภัทร เดชพระธรรม รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช และประธานศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จ.สมุทรสาคร รศ. ดร.นวลวรรรณ ทวยเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ ดีเจโบ ธนากร ชินกูลแนะนำหลักการจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตประจำวัน สรีรวิทยา โรคที่เป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุผู้สูงวัยหกล้มภายในบ้าน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสุดพิเศษอีกมากมาย หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การออกบูธแสดงประสิทธิภาพนวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายอัจฉริยะจากประเทศฟินแลนด์ ของบริษัท ASG Wellness & Innovations จำกัด โดยอุปกรณ์อัจฉริยะที่แสดงภายในบูธ ประกอบด้วย เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย
ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมชั้นเยี่ยมในการออกกำลังกายเชิงการแพทย์ เพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อให้กับผู้สูงวัย โดยการออกกำลังกายด้วยเครื่องออกกำลังกายอัจฉริยะ จะช่วยสร้างความสมดุลย์ในการทรงตัว ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้ม ช่วยให้การลุกขึ้นยืน หรือการนั่งลงของผู้สูงวัย ให้เป็นไปด้วยความมั่นคง แข็งแรง ทั้งนี้ มีผู้ร่วมงานได้ให้ความสนใจกับชุดเครื่องออกกำลังการอัจฉริยะของ บริษัท ASG Wellness & Innovations จำกัด เป็นจำนวนมาก ได้ร่วมทดลองใช้งานชุดอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ และทำความเข้าใจกับรายงานผลที่ออกมาจากเครื่องที่แสดงค่าเฉพาะตัวของผู้ใช้งานแต่ละราย เพื่อผู้ใช้บริการจะได้ทราบผลที่เป็นข้อมูลของตนเอง และสามารถนำผลดังกล่าวมาแก้ไขข้อบกพร่อง และสร้างมวลกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนของร่างกายให้มีความแข็งแรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย ให้สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในการ เดิน ยืน นั่ง เดิน ได้อย่างมั่นคง ยาวนาน ด้วยการช่วยเหลือตนเองได้เป็นอย่างดี โดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน ผู้สูงวัยก็จะสามารถใช้ชีวิตในช่วงสูงวัยได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ภาพรวมกิจกรรม
แหล่งที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2902