เปิดแล้ว! อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย พร้อมให้บริการผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ทั้งส่งเสริมการออกกำลังกายทางการแพทย์ด้วยนวัตกรรม บริการดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน รวมไปถึงงานกายภาพบำบัดฟื้นฟู ตอบโจทย์เข้าสู่สังคมสูงวัย
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ พบว่าประมาณร้อยละ 2 เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะติดบ้าน ติดเตียงจากความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้น การทำให้สุขภาพแข็งยังคงแรงควบคู่กับชีวิตที่ยืนยาวขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
กรมการแพทย์โดยสถาบันเวชศาสตร์ฯ ผู้สูงอายุ จึงได้มีการทำพิธีเปิดอาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธีเปิด เพื่อเร่งพัฒนานวัตกรรมบริการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุ สามารถคงความแข็งแรงได้ยาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่วัยก่อนสูงอายุคือตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป
- เริ่มจากเข้าไปคัดกรองสุขภาพ
โปรแกรมการดูแลจะเริ่มต้นจากการตรวจคัดกรอง ปัญหากลุ่มอาการผู้สูงอายุ ผ่านการประเมิน 9 ด้านได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย การมองเห็น การได้ยิน สุขภาพช่องปาก การขาดสารอาหาร การกลั้นปัสสาวะ ความคิดความจำ ภาวะซึมเศร้า และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน หากพบปัญหาด้านใดจะส่งประเมินอย่างละเอียดเพิ่มเติม และ พบแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในด้านนั้นๆ เพื่อตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการและให้การดูแลรักษา รวมไปถึงการดูแลโรคร่วมทั่วไปที่ตรวจพบด้วย
- โปรแกรมส่งเสริมสมรรถนะทั้งกาย ระบบประสาทและจิตใจ
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันฯ จะมีการวางแผนโปรแกรมส่งเสริมสมรรถนะทางกาย ระบบประสาทและจิตใจ โดยสามารถเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ประกอบด้วย
1. ออกกำลังกายทางการแพทย์ (Smart Medical Wellness Gym) เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการออกกำลังกายทางกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมทำให้ผู้รับบริการสามารถออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่องและเสริมสร้างกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยในการออกกำลังกายของ HUR จากประเทศฟินแลนด์ ที่เป็นนวัตกรรมแรงต้านที่เกิดจากลม ที่บริษัท ASG Wellness & Innovation ได้จัดจำหน่าย พร้อมติดตั้ง ซึ่งตัวเครื่องออกกำลังกายช่วยลดแรงกระแทก ลดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้
ทั้งนี้ ก่อนการออกกำลังกายจะมีการตรวจวัดองค์ประกอบของร่างกาย และการตรวจประเมินการทรงตัวเพื่อคัดกรองภาวะหกล้มในผู้สูงอายุ มีการติดตามและประเมินความก้าวหน้าทุกๆ 1-2 เดือน ควบคู่ไปกับการปรับโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับของแต่ละบุคคล หากผู้มารับบริการพบปัญหาสุขภาพจะส่งต่อให้พบแพทย์วินิจฉัยในลำดับถัดไป
2. บริการดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Service) เพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ มีการจัดบริการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งทางกาย จิตใจ สังคมของผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของผู้สูงอายุเน้นบริการที่บูรณาการด้านสุขภาพและสังคมเข้าด้วยกัน โดยทีม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรจากศูนย์พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี และวิทยากรจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพด้านการเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ อารมณ์และพฤติกรรม
3. ธาราบำบัด (Hydrotherapy) ช่วยส่งเสริมสุขภาพเพื่อคงสมรรถนะทางกายของผู้สูงอายุ เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงหกล้ม ภาวะข้อเข่าเสื่อม (OA knee) ซึ่งข้อดีของการออกกำลังกายในน้ำ น้ำจะช่วยพยุงตัว ช่วยลดน้ำหนักที่กระแทกหรือกดลงบนข้อต่อขณะออกกำลังทำให้ไม่ปวด และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจากแรงต้านของน้ำ โดยพื้นสระสามารถปรับระดับความลึกได้เพื่อปรับแรงต้านในการออกกำลัง นอกจากนี้ยังเป็นสระน้ำเกลือและปรับอุณหภูมิน้ำตลอดเวลาให้เหมาะกับสภาพผิวผู้สูงอายุ
4. งานกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ความคิด ความจำ ที่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยพร้อมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังมีบริการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน การตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) โดยผู้สนใจสามารถเข้ารับบริการของสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ณ อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2024 8481 – 7
แหล่งที่มา : กรมการแพทย์ | หน้าหลัก (dms.go.th) และ บริการของศูนย์นวัตกรรมฯ สุขภาพผู้สูงวัย ครอบคลุมทุกเรื่องสุขภาพ! (posttoday.com)