พระสงฆ์ไทยเกินครึ่ง อาพาธ ปัจจุบันประชาชนตักบาตร ทำบุญ ถวายภัตตาหาร แด่พระภิกษุสงฆ์ และสามเณร โดยการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูป เนื่องจากประชาชนมีความสะดวกและง่ายต่อชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ซึ่งอาหารเหล่านี้มีรสเค็มจัด หวานจัด และ มันจัด จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ฯลฯ ประกอบกับพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร ไม่มีโอกาสได้เลือกฉันอาหารเพื่อสุขภาพ และไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย บริหารร่างกาย เนื่องด้วยสถานภาพทางสงฆ์ที่อาจจะทำให้ดูไม่เหมาะสม ทำให้มีอัตราเพิ่มอาการอาพาธของพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร โดยสถิติข้อมูลว่าจากกรมการแพทย์ ปี 2559 พบว่า พระสงฆ์-สามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 ราย โรคความดันโลหิตสูง 8,520 ราย โรคเบาหวาน 6,320 ราย โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 ราย และโรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 ราย นอกจากนี้ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และสามเณร ทั่วประเทศ 349,659 รูป ของกรมอนามัยที่พบปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ เขตกรุงเทพมหานคร มีภาวะไขมันสูงกว่าปกติ ทำให้เกิดโรคอ้วนมากที่สุด ภาคใต้ มีภาวะกรดยูริกสูงและการทำงานของไตผิดปกติ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบภาวะโลหิตจาง และพบว่าพระสงฆ์อายุ 35 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการทำงานของไตผิดปกติถึง 8 เท่า หากมีภาวะอ้วนร่วมด้วยก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันในเลือดผิดปกติและเบาหวานมากกว่าธรรมดาถึง 2 เท่า
พระสงฆ์ไทยเกินครึ่ง อาพาธ เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย บริหารร่างกาย จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นโรคอ้วนของพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร ในเขตกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลสถิติ จากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดกรองและค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคด้านภาวะโภชนาการเมื่อปี 2559 ซึ่งมีจำนวนพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 5,989 รูป พบว่า ค่าดัชนีมวลกายเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2549 พระสงฆ์ สามเณร ในเขตกรุงเทพฯ มีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 13.8 เป็นร้อยละ 15.9 (ค่า ดัชนีมวลกาย อยู่ระหว่าง 23.0 – 24.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ) และมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 18.0 เป็นร้อยละ 41.6 (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25.0 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรไม่ค่อยได้ออกกำลังบริหารร่างกาย
จากการที่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร มีปัญหาทางด้านสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ออกกฎหมาย “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560” ฉบับแรกของประเทศไทย โดยทางมหาเถรสมาคมเห็นด้วย และมีการประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2560 เพื่อเป็นทางสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะที่กำหนดให้ดำเนินการวัด ส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตนเอง ตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาพแก่ชุมชนและสังคม โดยจะให้ความรู้ ทางด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย
ฆราวาส หรือ ประชาชนมีความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเลือกสรรอาหารเพื่อสุขภาพให้แก่พระภิกษุสงฆ์ และสามเณร เพื่อการตักบาตรและถวายภัตตาอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ 5หมู่ และลดอาหารที่มีรสชาติจัด เช่น หวาน เค็ม เผ็ด และ มัน ร่วมถึง ลดขนมหวาน ลดน้ำหวาน ลดน้ำอัดลม เลี่ยงอาหารกึ่งสำเร็จรูป เลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม และควรใส่บาตรในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากได้บุญแล้วยังช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ และสามเณรมีสุขภาพที่ดีและลดการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตามพุทธพจน์ที่ว่า อาโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
นอกจากนั้นพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรควรได้รับการส่งเสริมให้ได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและเหมาะกับสถานภาพ เช่น กวาดลานวัด เดินจงกลม ออกกำลังบริหารทั่วไปเพื่อลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง